“ถมที่ดินสร้างบ้านเลยได้ไหม” เป็นคำถามที่ผู้ต้องการใช้บริการ รับถมที่ดิน เพื่อในการปลูกบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัยในครั้งแรก สงสัยเป็นอันดับแรก ๆ เนื่องจากบางคนเพิ่งตัดสินใจซื้อที่ดินมาได้ไม่นาน และต้องการรีบสร้างบ้านสวย ๆ อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ จึงต้องการทราบว่าเราสามารถสร้างบ้านหลังถมดินได้ทันทีเลยหรือไม่ หรือมีวิธีการใดบ้างที่จะได้สร้างบ้านเร็ว ๆ
จากคำถามนี้สามารถตอบได้ทั้ง สร้างได้ทันที และไม่สามารถสร้างได้ทันที เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การออกแบบและสร้างบ้านมี 2 ประเภท ดังนี้
- ใช้ฐานรากเสาเข็ม กรณีนี้เป็นวิธีการที่วิศวกรออกแบบให้โครงสร้างบ้านถ่ายแรงไปที่เสาเข็ม ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างบ้านได้ทันทีหลังถมที่ดินเสร็จ แต่อาจจะมีการทรุดตัวของดินไปบ้างขึ้นอยู่กับว่าใช้ดินประเภทใด และความหนาแน่นจากการบดอัดดิน
- ใช้ฐานรากแผ่ กรณีนี้เป็นวิธีการที่วิศวกรออกแบบให้โครงสร้างบ้านรับน้ำหนักด้วยดิน ส่วนใหญ่จะทำในพื้นที่ที่มีดินเดิมเป็นชั้นดินแข็งเท่านั้น แต่หากเจ้าของบ้านต้องการปรับระดับบ้านให้สูงขึ้น ก็จะต้องรอให้ดินใหม่ที่ใช้ปรับหน้าดินเกิดการยุบตัวจนแน่นก่อน จึงจะเริ่มก่อสร้างบ้านได้
ดูยังไงว่าบ้านเราใช้ “ฐานรากเสาเข็ม” หรือ “ฐานรากแผ่”
เมื่อทราบแล้วว่าการสร้างบ้านมีอยู่ 2 ประเภท ให้กลับไปดูที่แบบขออนุญาติก่อสร้างในหน้าของ “แปลนฐานราก” ว่ามีการระบุให้ใช้เสาเข็มหรือไม่ ชนิดใด หรือระบุให้ใช้ฐานรากแผ่ขนาดเท่าไหร่ จึงจะได้คำตอบว่าจะสามารถถมที่สร้างบ้านได้ทันทีหรือไม่
เพิ่งถมดินเสร็จไม่นาน แต่อยากสร้างบ้านเร็ว ๆ ทำอย่างไรดี
ถ้าในแบบก่อสร้างระบุว่าใช้ฐานรากเสาเข็มก็ไม่ต้องกังวลใด ๆ สร้างได้ทันที เพียงแต่หลังก่อสร้างจะมีดินทรุดรอบบ้านบ้างตามปกติ แต่มั่นใจได้เลยว่าทรุดแค่ดิน บ้านไม่ทรุดแน่นอน วิธีการแก้ไขก็ไม่ยากแค่สั่งดินมาถมเพิ่มเท่านั้น
แต่ถ้าในแบบก่อสร้างระบุว่าใช้ฐานรากแผ่ แต่ต้องการที่จะ ถมที่ดินสร้างบ้านให้เร็ว ๆ ภายในเดือนเดียว หรือไม่เกิน 3 เดือน ให้แจ้งกลับไปที่วิศวกรผู้ออกแบบว่าสามารถเปลี่ยนจากฐานรากแผ่เป็นฐานรากเสาเข็มได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ก็สร้างบ้านได้ทันที
คำนวณราคาดินถม ฉบับง่าย ๆ ใครทำก็ได้
หลังจากตัดสินใจว่าจะถมดิน ก็จะมีคำถามต่อมาคือ ถมดินแพงมั้ย? สั่งดินจากที่ไหน? สั่งดินถมยังไง? ใช้ปริมาณดินเท่าไหร่? เราจึงมีวิธีการคิดง่าย ๆ มาช่วยให้เจ้าของบ้านคลายความสงสัย
1. ปริมาณดิน (คิว)
ตัวอย่าง : พื้นที่ กว้าง 5 ม. ยาว 2 ม. ต้องการถมดินสูงขึ้นมา 50 ซม. จะต้องสั่งดินเท่าไหร่
- พื้นที่ = 5×2 = 10 ตรม.
- ความหนาที่ต้องการถม = 50/100 = 0.50 ม.
- ปริมาณดิน = 10×0.50 = 5 คิว
หลังจากได้ปริมาณดินแล้ว เราจะต้องสั่งดินเผื่อบดอัดอีกประมาณ 25-30% ดังนี้
ปริมาณดินที่ต้องสั่งจริง = 5×1.25 = 6.25 คิว
2. ราคาถมดินเบื้องต้น
เนื่องจากราคาดินในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งชนิดของดิน ค่าขนส่ง จำนวนเที่ยว แหล่งที่มาของดิน ดังนั้นราคาที่จะใช้ในการคำนวณนี้จะเป็นเพียงราคาสมมุติเท่านั้น โดยจะยกตัวอย่าง ให้ดินราคาคิวละ 350 บาท
- ราคาถมดิน = 6.25×350 = 2,187.50 บาท
3. วิธีการสั่งดินถม
เมื่อทราบปริมาณดิน และราคาเบื้องต้นแล้ว สามารถติดต่อกับบริษัทรับถมดินที่มีทีมงานมืออาชีพได้เลย 095-736-4596
ถมดินสร้างบ้าน ต้องใช้ดินอะไร?
สำหรับว่าที่เจ้าของบ้านคนใหม่ ที่ต้องการถมที่ดินเพื่อสร้างบ้านจะต้องมีคำถามนี้แน่นอนว่า “ดินอะไรเหมาะสำหรับถมที่ดินสร้างบ้าน” และต้องเลือกดินอย่างไรให้มีคุณภาพ เหมาะสมกับการใช้งาน โดยปกติแล้วดินถมมีทั้งหมด 5 ประเภท แต่ดินสำหรับถมที่สร้างบ้านมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ ดินถมทั่วไป ดินดาน และดินลูกรัง โดยแต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนี้
- ดินถมทั่วไป – เป็นดินที่นิยมนำมาใช้สร้างบ้าน เนื่องจากเป็นดินราคาถูก หาซื้อง่าย แต่มีการทรุดตัวมากกว่าดินดาน และดินลูกรัง เหมาะสำหรับที่ดินที่ไม่ต้องการสร้างบ้านในทันที มีเวลารอให้ดินยุบตัวลงให้แน่นขึ้น
- ดินดานหรือดินซีแลค – เป็นดินที่นิยมนำมาใช้ถมดินทำทั้งถนนและสร้างบ้าน เนื่องจากบดอัดได้ดี ทำให้หน้าดินแน่น มีการยุบตัวน้อยกว่าดินถมทั่วไป แต่มีราคาที่สูง เหมาะสำหรับที่ดินที่ต้องการสร้างบ้านทันที
- ดินลูกรัง – เป็นดินที่นิยมนำมาใช้ทำถนน แต่สามารถนำมาถมดินเพื่อในการสร้างบ้านได้เช่นกัน เนื่องจากบดอัดได้ดี มีหน้าดินที่แน่น แต่ไม่เหมาะกับบ้านที่ตั้งใจจะปลูกต้นไม้ ทำสวน เพราะไม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อพืช
สรุปง่าย ๆ คือจะใช้ดินชนิดไหน ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้งานที่ดินทันทีหลังถมเสร็จเลย หรือมีเวลารอให้ดินยุบตัวลงให้แน่นขึ้น และในอนาคตที่ดินนั้น ๆ จะใช้ในการปลูกต้นไม้ หรือทำการเกษตรหรือไม่ แค่นี้ว่าที่เจ้าของบ้านคนใหม่ก็สามารถตัดสินใจเลือกใช้ดินได้ง่าย ๆ แล้ว หรือจะขอคำแนะนำจากทีมงานมืออาชีพของเราก็ย่อมได้
จ้างคนมาถมที่สร้างบ้านอย่างไร ให้งานมีคุณภาพ ?
การจ้างถมดิน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับการเริ่มต้นสร้างบ้าน จึงควรตอบให้ได้ก่อนว่าเราจำเป็นต้องถมที่ดินจริงหรือไม่ ด้วยวิธีการเช็คข้อมูลทั่ว ๆ ไป เช่น ที่ดินต่ำกว่าระดับถนนเท่าไหร่ มีประวัติน้ำท่วมหรือไม่ เคยท่วมสูงเท่าไหร่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าจริง ๆ แล้วถมดินสร้างบ้าน ควรต้องสูงเท่าไหร่กันแน่ ถึงจะไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง แต่หลังจากตอบได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ 3 สิ่งสำคัญ ที่จะทำให้งานถมดินมีคุณภาพ
ทำสัญญาก่อนว่าจ้างถมดิน
ผู้ว่าจ้างควรตกลงและทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้รับจ้าง พร้อมระบุ ประเภทดินที่ใช้, ระยะเวลาดำเนินการ, การชำระเงิน, จ้างเป็นคันหรือเหมางาน และรายละเอียดงานต่าง ๆ ที่ตกลงกันเอาไว้
แบ่งจ่ายเป็นงวด
ผู้ว่าจ้างไม่ควรจ่ายเงินเป็นก้อนเดียวก่อนเริ่มงาน เพื่อป้องกันปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือปฎิบัติงานไม่ตรงกับสัญญา ให้แบ่งจ่ายเป็น 2 งวดขึ้นไป และผู้ว่าจ้างควรจ่ายงวดสุดท้ายให้ครบเมื่องานจบแล้วเท่านั้น
นับเที่ยวหรือเหมาจ่าย
ผู้ว่าจ้างจะจ้างถมดินแบบนับเที่ยวหรือเหมาจ่ายก็แล้วแต่สะดวก แต่หากเป็นการเหมาจ่ายจะดีกว่า เพราะงบไม่บานปลาย และเป็นราคาเหมาจนจบงาน แต่ถ้าเลือกเป็นการถมดินแบบนับเที่ยวก็ยากที่จะตรวจสอบปริมาณดินที่มาส่ง เพราะมาตรฐานการตักที่ไม่เท่ากัน
เช็คให้ดี ! "ถมดินสร้างบ้าน" อย่างไรให้ถูกกฎหมาย
บางท่านอาจยังไม่รู้ หรืออาจจะยังรู้ไม่หมดว่าการถมดินและขุดดินไม่ได้ถูกควบคุมด้วย พรบ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องใช้ควบคู่ไปกับกฎกระทรวงอีกหลาย ๆ ฉบับ โดยเฉพาะกฎกระทรวงกำหนดมาตรการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการขุดดินหรือถมดิน พ.ศ. 2548 ซึ่งอธิบายรายละเอียดสำคัญไว้ ดังนี้
การขุดดิน
- ขุดดินลึกจากระดับพื้นดินไม่เกิน 3 เมตร
- ขุดดินใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะไม่เกิน 2 เท่าของความลึกบ่อดิน จะต้องจัดทำกำแพงป้องกันการพังทลายของดิน
- การขุดดินที่ต้องจัดทำกำแพงป้องกันการพังทลายของดิน จะต้องมีวิศวกรเซ็นรับรอง
- หากขุดดินพบวัตถุโบราณ ซากดึกดำบรรพ์ หรือสิ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือการศึกษา ให้หยุดขุดทันที แล้วแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทราบภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่พบ
การถมดิน
- ถมดินสูงกว่าเพื่อนบ้าน และมีพื้นที่เนินดินมากกว่า 2000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องจัดให้มีการระบายน้ำให้เพียงพอ เพื่อที่จะไม่เกิดความเดือดร้อนต่อพื้นที่ใกล้เคียง
- การถมที่ดินที่มีพื้นที่มากกว่า 2000 ตารางเมตร จะต้องแจ้งกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อดำเนินการขออนุญาต
- หากไม่ปฎิบัติตามคำสั่งที่ให้จัดการป้องกันและแก้ไขอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการขุดดิน จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000บาท และปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่เกิน 500 บาท
การป้องกันการพังทลายของดิน
- ถมดินสูงกว่าเพื่อนบ้าน และมีพื้นที่ของเนินดินเกินกว่า 2000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องติดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขออนุญาตและต้องให้วิศวกรเซ็นรับรอง
- ถมดินสูงกว่าเพื่อนบ้านเกินกว่า 2 เมตร จะต้องมีแบบแปลน และรายการคำนวณพร้อมวิศวกรโยธาเซ็นรับรอง
- หากถมดินสูงกว่า 5 เมตร จะต้องดูความเหมาะสมของระดับที่ดินใกล้เคียง และจะต้องมีวิศวกรระดับวุฒิวิศวกรเซ็นรับรองเท่านั้น
- ในเวลากลางคืน ห้ามทำ โดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษร เพราะเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการอนุญาตทำในเวลากลางคืนได้
- ถมดินพื้นที่มากกว่า 2000 ตารางเมตร และสูงเกินกว่า 2 เมตร จะต้องมีทั้งวิศวกรเซ็นรับรอง และผู้คุมงาน
- ส่วนฐานของแนวดินจะต้องห่างจากเขตที่ดินของบุคคลอื่น เป็นระยะไม่น้อยกว่าความสูงของดินที่จะถม เช่น ถมดินสูง 2 เมตร จะต้องห่างจะเขตที่ดินผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ยกเว้นจะทำกำแพงกันดินเพื่อที่จะถมเต็มพื้นที่
- จำเป็นต้องติดป้ายสะท้อนแสง (ป้ายเรืองแสง) เพราะจะมองเห็นได้ง่ายขึ้นในที่มืดและช่วยป้องกันความปลอดภัยจากอันตรายและอุบัติเหตุ
- ในระหว่างการถมดินและหลังจากถมเสร็จแล้ว ต้องตรวจเสถียรภาพของดินถมให้มีความมั่นคงปลอดภัย
จะเห็นว่าเมื่อไหร่ที่เป็นการถมดินที่มีพื้นที่ใกล้เคียง หรือถมดินติดกับเพื่อนบ้าน จะต้องใช้ พรบ.และกฎกระทรวงควบคู่กันเสมอ เนื่องจากจะช่วยให้ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ และสังเกตว่าการถมดินใกล้พื้นที่คนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่จริงจังมาก เพราะจะต้องมีวิศวกรเซ็นรับรองเสมอ
ถมที่ดินสร้างบ้าน ควรสูงแค่ไหน
ตามกฎกระทรวงระบุไว้ว่า “พื้นที่สูงตั้งแต่ 2 เมตร” จากพื้นที่ต่างเจ้าของที่อยู่ข้างเคียง ต้องมีแบบแปลน รายการคำนวณ และวิศวกรระดับโยธาเซ็น เท่ากับว่าเจ้าของบ้านคนไหนที่ต้องการถมดินสร้างบ้านต่ำกว่า 2 เมตร ไม่ต้องเซ็น
ต้องถมที่ดินสร้างบ้าน สูงกว่าถนนเท่าไหร่ถึงจะพอดี
ส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินจะจ้างช่างสำรวจมาวัดระดับที่ดินตนเองก่อนที่จะเริ่มถมดิน โดยจะถมให้สูงกว่าถนนประมาณ 50-80 ซม. และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ดินข้างกัน เนื่องจากการถมดินสูงเกินไปจะต้องมีวิศวกรเซ็นรับรอง และเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังอาจจะมีปัญหาตามมาทั้งอาจเกิดน้ำท่วมที่ดินใกล้เคียง หรืออาจเกิดแรงดันดินจนสร้างความเสียหายให้เพื่อนบ้าน
เพื่อนบ้านถมดินสูง ทำอย่างไรดี
หากพบว่าเพื่อนบ้านมีการถมดินที่สูงกว่าที่ดินเรามากเกินไป ให้แจ้งเจ้าของที่ดินให้ทราบถึงกฎหมายเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินก่อน แล้วแจ้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วให้ทราบ หลังจากนั้นให้เจรจาตกลงด้วยดี หากเจรจาไม่สำเร็จให้แจ้งกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้หยุดการขุดดินหรือถมดินนั้นได้
ถมดินสูงกว่าเพื่อนบ้านไปแล้ว แก้อย่างไรดี
หากพบว่าเรากำลังเผชิญกับการถมที่ดินสร้างบ้านที่ผิดกฎหมาย และเริ่มเกิดปัญหากับเพื่อนบ้านแล้ว ให้รีบหยุดการถมดินทันที และหาแนวทางการแก้ระดับดินถม หรือแจ้งให้วิศวกรออกแบบกำแพงกันดินเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดินโดยด่วนที่สุด